ถ้าคุณลองไล่ดูแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนของคุณ แล้วลองนับดูหน่อยว่าแอปไหนบ้างที่ไม่จำเป็นต้องเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตถึงจะใช้งานได้ เราค่อนข้างมั่นใจว่าเกินกว่าครึ่งในแอพพลิเคชันที่คุณโหลดมาใช้ในชีวิตประจำวันต้องเขื่อมต่ออินเทอร์เน็ตก่อนถึงจะใช้งานได้แน่ ๆ แต่สิ่งที่อยากให้คุณสังเกตมากกว่านั้นว่าแอปที่คุณโหลดมาใช้งานมันกำลังทำหน้าที่แทนสิ่งใดในโลกออฟไลน์ของเราอยู่
คุณอาจจะเหลือบไปเห็นแอปธนาคารที่เข้ามาทดแทนตู้ ATM หรือแม้แต่กระเป๋าเงินของคุณเองด้วยซ้ำ เพราะแอปธนาคารแอพเดียวทำได้แทบทุกอย่างไม่ว่าจะฝากเงิน ถอดเงิน โอนเงิน หรือแม้กระทั่งการใช้จ่ายผ่านการแสกน QR Code คุณอาจจะเหลือไปเห็น Netflix หรือ YouTube ที่เข้ามาแทนที่โรงภาพยนตร์หรือสื่อโทรทัศน์ หรือแม้แต่ Tinder ที่อาจไม่ได้เข้ามาแทนที่สิ่งใด แต่เข้ามาสร้างประสบการณ์ใหม่ในการหาความสัมพันธ์
“มีอีกกี่แอปที่เข้ามาแทนที่สิ่งเดิม?” คำถามนี้ไม่สำคัญเท่า “เหลือสิ่งเดิมอีกกี่อย่างที่ยังไม่ถูกแทนที่”
IoT หรือ Internet of Thing คือเทคโนโลยีเชื่อมโยงอินเทอร์เน็ตเข้าสู่ทุกสรรพสิ่งที่อยู่รอบตัวของเรา สร้างเครือข่ายที่มองไม่เห็นระหว่างอุปกรณ์หรือ device ต่าง ๆ แต่เราสามารถสั่งการมันได้แทบทุกชิ้นเพียงแค่เรามีระบบอินเทอร์เน็ตอยู่กับตัว เรียกได้ว่า IoT เข้ามาทำให้ Device ต่าง ๆ ฉลาดขึ้นและตอบสนองความต้องการของผู้ใช้มากขึ้น และเป็นตัวเชื่อมประสานโลกออนไลน์ของเราเข้ากับอุปกรณ์รอบตัวของเรามากขึ้น ตัวอย่างของ IoT ที่เราอาจะพบเห็นได้ในชีวิตประจำวันคือเครื่อง ปริ้นท์ Double A ที่ตั้งอยู่ในบริเวณสำนักงานหรือสถานศึกษาต่าง ๆ ที่เราสามารถสั่งปริ้นท์ได้เลยผ่านมือถือแล้วค่อยไปรับเอกสารตามสถานที่ที่เรากำหนดไว้ในภายหลัง หรือแม้กระทั่งเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเช่นเครื่องปรับอากาศที่สามารถสั่งงานผ่านสมาร์ทโฟนแทนรีโมตได้ หมายความว่าไม่ว่าเราจะห่างจากเครื่องปรับอากาศของเราขนาดไหนเราก็สามารถสั่งงานมันได้
“แล้ว IoT มันสร้างมูลค่าได้อย่างไรล่ะ”
เราขอตอบคำถามนี้ด้วยสถิติจาก NCTA หรือสมาคมเคเบิลและโทรคมนาคมแห่งชาติ NCTA คาดการณ์ว่าในปลายปี 2020 (ซึ่งก็คือปีนี้) จะมีอุปกรณ์ที่มีระบบ IoT มากถึง 5 หมื่นล้านเครื่อง และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 7.5 หมื่นล้านเครื่องในปลายปี 2025 นอกจากนี้ยังมีคาดการณ์จากบริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกิจชั้นน้ำของโลกอีกหลายบริษัทอีกว่าจะมีเงินเข้ามาในตลาดของ IoT มากถึง 1.6-14.4 ล้านล้านดอลล่าสหรัฐ (คิดเป็นประมาณ 50-445 ล้านล้านบาทไทย) ในอีก 5 ปีข้างหน้าเช่นกัน
สำหรับใครที่เริ่มสนใจว่าจะเริ่มต้นพัฒนา IoT ของตนเองแต่ยังไม่มีไอเดียว่าจะสร้างสรรค์ออกมาในรูปแบบไหนสร้างสรรค์ออกมาเป็นอะไร เราขอหยิบยก 5 เทรนด์หลักของ IoT ที่กำลังเป็นที่นิยมในปี 2020-2021 นี้มาให้คุณได้สำรวจกัน
อันดับ 1 ความปลอดภัย Security
ช่องโหว่อย่างหนึ่งของ IoT คือการโจรกรรมข้อมูลหรือ Phishing เนื่องจาก Device ที่เคยออฟไลน์กลายเป็นออนไลน์มากขึ้น มีการส่งข้อมูลถึงกันได้ได้ง่าย ทำให้มีปริมาณข้อมูลที่อยู่ในระบบมีจำนวนมหาศาลมากขึ้นหลายเท่า การโจรกรรมข้อมูลยิ่งได้ปริมาณข้อมูลที่มากขึ้นและเนื่องจาก IoT ในปัจจุบันยังไม่ได้มีการพัฒนาระบบด้านความปลอดภัยที่แข็งแรงมากพอจึงทำได้ง่ายขึ้นและด้วยเช่นกัน ฉะนั้นเทรนด์อันดับหนึ่งของเราจึงตกเป็นของเทคโนโลยีเกี่ยวกับความปลอดภัยที่จะเข้ามาปิดช่องโหว่และเสริมความมั่นใจให้ผู้ใช้อุปกรณ์ IoT มากยิ่งขึ้นนั่นเอง
อันดับที่ 2 IoT ในโรงงาน
การทำงานของ IoT ส่วนใหญ่มาจากการทำงานรับและส่งข้อมูลของเซนเซอร์และระบบภายในที่ติดตั้งอยู่กับตัวอุปกรณ์ ฉะนั้นหากตัวเซนเซอร์ต่าง ๆ เข้ามาผสมโรงกับเครื่องจักรในโรงงานได้ ก็จะทำให้ความสามารถของเจ้าหน้าที่ 1 คนในการควบคุมเครื่องจักรนั้นง่ายขึ้นและทำได้ในปริมาณที่มากขึ้น ขณะเดียวกันหากเกิดปัญหาที่ส่วนใดส่วนหนึ่ง ก็ยังสามารถระบุต้นตอของปัญหาได้ง่ายขึ้นด้วยเช่นกัน
อันดับที่ 3 Big Data, Analytics และ Machine Learning
อย่างที่พูดถึงไปในเทรนด์อันดับแรกแล้วว่า ข้อมูลที่มาจากการใช้งาน IoT มีเพิ่มขึ้นเยอะมากและจะเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมตามแนวโน้มของปริมาณการใช้งานและความหลากหลายของ Device เองด้วย ฉะนั้นจึงเป็นที่มาของอันดับนี้ ซึ่งคือเทคโนโลยีที่นำข้อมูลอันมากมายมหาศาลนั้นมาจัดการ กลั่นกรอง ประยุกต์ใช้ เพื่อสร้างประโยชน์ที่เพิ่มพูนมากขึ้นนั่นเอง
อันดับที่ 4 Healthcare
เราเชื่อว่าบนข้อมือของผู้อ่านหลายท่านก็มีเทคโนโลยีที่สามารถติดตามพฤติกรรมการใช้งานร่างกายได้ ไม่ว่าจะเป็น Apple watch, Mi Band หรือแบรนด์อื่น ๆ นั่นหมายความว่าทุกการเต้นของหัวใจ ทุกจังหวะการขยับของร่างกายก็กลายเป็นข้อมูล หรือแม้กระทั่งการนอนของเราเองยังเป็นข้อมูล! เทคโนโลยีด้านสุขภาพจริง ๆ อยู่ใกล้ชิดเรามากและในอนาคตอันใกล้นี้มันจะมีประโยชน์อย่างมากในการช่วยเหลือมนุษยชาติทั้งระดับบุคคลไปจนถึงระดับชาติ เพราะข้อมูลเหล่านี้เองสามารถช่วยให้องค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับสุขภาพเช่น โรงพยาบาล หรือศูนย์วิจัยด้านโรคภัยต่าง ๆ ทำงานได้ง่ายขึ้น
อันดับที่ 5 ด้านการจัดการภายในองค์กร
ด้วยเทคโนโลยีที่ช่วยให้การติดต่อสื่อสารภายในองค์กร ที่ช่วยลดช่องว่างระหว่างการประสานงานจากผู้บริหารสู่พนักงาน และยังสามารถช่วยให้ผู้บริหารสามารถติดตามกระบวนการหรือขั้นตอนในการทำงานต่าง ๆ ของพนักงานได้ง่ายขึ้น ยังช่วยในเรื่องของการจัดการแรงงาน และสามารถกระตุ้นให้พนักงานสามารถปฏิบัติงานของตนเองทำงานได้อย่างปลอดภัยและรวดเร็ว นอกจากนี้ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดจากการติดต่อสื่อสารระหว่างกันได้อีกด้วย
ฉะนั้นจากการคาดการณ์ดังกล่าวจะเห็นได้ว่าโลกของเราค่อนข้างมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วทีเดียว และเทคโนโลยีอย่าง IoT ก็เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของพวกเรามากขึ้น โดยเข้ามาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในชีวิตประจำวันของเราโดยที่แทบจะไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ แต่ก็หมายความว่าเราก็มีค่าใช้จ่ายที่ต้องลงไปกับสิ่งเหล่านี้มากขึ้น ในอีก 5 ปีข้างหน้า IoT อาจกลายเป็นสิ่งจำเป็นที่ขาดไม่ได้ในการใช้ดำรงชีวิต กลายเป็นปัจจัยพื้นฐานอย่างหนึ่งที่ช่วยให้ดำรงชีวิตได้สะดวกขึ้นในแต่ละวัน หากคุณกำลังเริ่มต้นสร้างสรรค์ IoT รูปแบบใหม่ ๆ ตอนนี้อาจจะเป็นโอกาสที่ดีทีเดียวในการวางแผนพัฒนาอุปกรณ์ IoT ของคุณ และมันอาจกลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับพวกเราในอีก 5 ปีข้างหน้า กลายเป็นสินค้าที่ทุกคนพร้อมที่จะควักเงินในกระเป๋าจ่าย และอาจเป็นสินค้าที่เปลี่ยนแปลงความเป็นอยู่จากหน้ามือเป็นหลังมือเลยก็ได้
โดย ปกรณ์ นาวาจะ
Source:
https://sixfab.com/iot/?utm_medium=ppc&utm_campaign=DSA+-+Global&utm_term=&utm_source=adwords&hsa_src=g&hsa_net=adwords&hsa_kw=&hsa_tgt=dsa-19959388920&hsa_ad=334924454323&hsa_grp=69030434564&hsa_mt=b&hsa_acc=6308888758&hsa_ver=3&hsa_cam=1716762710&gclid=CjwKCAjw88v3BRBFEiwApwLevcUul1MCJvwJqEO6ooiaHy8Tf2in-Cz8omYJI1zwGUW-oYbAKskALBoC2VcQAvD_BwE
https://informationmatters.net/internet-of-things-statistics/#:~:text=forecasts%20that%20the%20enterprise%20and,a%2021%25%20increase%20from%202019.&text=Summary%3A%20%E2%80%9CGartner%20forecasts%20that%2014.2,producing%20immense%20volume%20of%20data.%E2%80%9D
https://priceonomics.com/the-iot-data-explosion-how-big-is-the-iot-data/
https://financesonline.com/iot-trends/