Logical Thinking ทักษะพื้นฐานใหม่ที่กระทรวงศึกษายังต้องเพิ่ม

ก่อนจะพูดถึงการคิดเชิงตรรกะหรือ logical thinking เราอยากชวนผู้อ่านตอบคำถามง่าย ๆ ของเราก่อน “มีเรือเล็ก 2 ลำ แต่ละลำสามารถรับผู้โดยสารได้ 2 คน ผู้โดยสารมีทั้งหมด 4 คน ได้แก่ นายเอก นางสาวโท น้าตรี และลุงจัตวา นายเอกไม่ถูกกับนางสาวโท และน้าตรี จึงไม่สามารถลงเรือลำเดียวกันได้ ในขณะที่ นางสาวตรีไม่ถูกกับนายเอกและลุงจัตวา จึงไม่สามารถลงเรือลำเดียวกันได้เช่นกัน ฉะนั้นเรือเล็กทั้งสองลำควรจะจัดสรรผู้โดยสารอย่างไร?”

คำตอบคือ “นายเอก-ลุงจัตวา และ นางสาวโท-น้าตรี” การคิดของคุณที่เกิดขึ้นเมื่อครูคือ Logical Thinking หรือการคิดเชิงตรรกะนั่นเอง ลองสังเกตชั่วขณะของการคิดเมื่อครู่ให้ดี แล้วไปดูกันว่าการคิดเชิงตรรกะคืออะไรและมันทำงานอย่างไร

การคิดเชิงตรรกะ (Logical Thinking)

เป็นทักษะพื้นฐานของการคิดทั่วไป ซึ่งมาจากการประมวลผลของสมองทั้งสองซีกที่เชื่อมโยงกันอย่างเป็นเหตุและผลต่อเนื่องกัน กล่าวคือเราใช้สมองส่วนหนึ่งในการจดจำข้อมูล รายละเอียด และไอเดียไว้ ในขณะที่สมองอีกส่วนหนึ่งทำการเชื่อมโยงองค์ความรู้ทุกอย่างที่ถูกสรรสร้างหรือถูกจดจำไว้ก่อนหน้าโดยมีเป้าหมายคือการแก้ไขปัญหาหรือนำไปสู่ผลลัพธ์สุดท้ายอย่างเป็นขั้นตอนนั่นเอง

เหตุใด Logical Thinking จึงมีความสำคัญ?

ลองคิดถึงการทำข้าวผัดหมูโดยที่โยนวัตถุดิบทุกอย่างลงไปผัดพร้อมกันแบบไม่สนใจขั้นตอนดูสิครับ เราอาจจะได้ข้าวผัดที่ข้าวสุกกำลังดีแต่เนื้อหมูยังดิบอยู่ หรืออาจจะได้ข้าวผัดที่เนื้อหมูสุกแล้วแต่ข้าวดันแห้งเกินไป จะเห็นได้ว่าขั้นตอนแต่ละขั้นย่อมส่งผลถึงขั้นตอนในขั้นต่อไป และขั้นตอนทุกขั้นนั้นย่อมส่งผลถึงผลลัพธ์สุดท้ายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การที่เรามีการคิดเชิงตรรกะหรือการคิดอย่างเป็นระบบจะช่วยให้เราสามารถระบุปัญหาที่เกิดในระหว่างขั้นตอนต่าง ๆ  ช่วยลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ช่วยในการประเมินปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในขั้นตอนถัดไป กล่าวคือเราสามารถกำหนดผลลัพธ์สุดท้ายได้แม่นยำขึ้น

นอกจากความสำคัญที่กล่าวไว้ก่อนหน้า การคิดเชิงตรรกะยังมีผลดีทางด้านการพัฒนาตนเองในอีกหลากหลายด้านเช่น ด้านความคิดสร้างสรรค์ เนื่องมาจากการฝึกคิดเชิงตรรกะจำเป็นต้องมีการเชื่อมโยงความรู้อันนำไปสู่การแก้ปัญหา การเชื่อมโยงนี้เองที่จำเป็นต้องมีการวิเคราะห์ข้อมูลเดิม (Analyze) และอาจนำไปสู่การสังเคราะห์ข้อมูล (Synthesize) ซึ่งอาจทำให้เกิดไอเดียใหม่ ๆ ที่สามารถนำมาใช้สร้างสรรค์สิ่งใหม่ต่อไปได้ ในขณะเดียวกันการคิดเชิงตรรกะนี้เองยังสามารถช่วยพัฒนาทักษะการสื่อสารและการประสานงานให้ดีขึ้น เนื่องจากการคิดเชิงตรรกะจะทำให้เราเห็นกระวนการต่าง ๆ เป็นขั้นตอน เราจึงสามารถสื่อสารอย่างเป็นรูปธรรม เป็นขั้นเป็นตอนที่ชัดเจน เพื่อให้ผู้ที่ร่วมสนทนาด้วยเข้าใจภาพในความคิดของเราชัดเจนขึ้นและเห็นทิศทางของการทำงานที่ตรงกันนั่นเอง

อีกทักษะหนึ่งทีการคิดเชิงตรรกะเข้ามามีบทบาทอย่างมากในการพัฒนาและต่อยอดคือการเขียนโปรแกรมนั่นเอง ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเทคโนโลยีเหล่านี้เข้ามามีบทบาทอย่างมากมายไม่ว่าจะผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เช่นคอมพิวเตอร์ หรือแม้แต่รูปลักษณ์ที่พกพาได้เช่นสมาร์ทโฟน แต่ละแอพพลิเคชั่นหรือและโปรแกรมล้วนผ่านการพัฒนาจากการเขียนโปรแกรมทั้งสิ้น แล้วความคิดเชิงตรรกะมันมีบทบาทอย่างไร? ไม่เพียงแต่การวางระบบการทำงานหลังบ้านที่อาจต้องมีขั้นตอนมากมายและซับซ้อน หรือแม้แต่การออกแบบ UI หน้าบ้านที่ต้องคำนึงถึงขั้นตอนการใช้งานของ USER ที่ไม่เพียงต้องใช้ทักษะของความคิดอย่างเป็นระบบแล้วก็ยังอาศัยทักษะความิดสร้างสรรค์เพื่อที่จะสร้างให้เกิด UX ที่สร้างความประทับใจ ฉะนั้นเราแทบจะเห็นได้ว่าความคิดเชิงตรรกะเป็นพื้นฐานสำคัญที่ควรฝึกฝนและพัฒนาอยู่เสมอ

วิธีการพัฒนา Logical Thinking

1. ฝึกตั้งคำถามเพื่อหาเหตุผล เช่น “เหตุการณ์นี้หรือส่งนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร” เพื่อที่จะสามารถคิดเชื่อมโยงกลับไปสู่ความรู้เดิม

2. ทดลองคาดเดาผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้น วิธีนี้จะต่อเนื่องจากวิธีก่อนหน้า เนื่องจากหากเรามีข้อมูลหรือประสบการณ์ที่มากพอ เราจะสามารถเชื่อมโยงสิ่งเหล่านั้นออกมาเป็นผลลัพธ์ได้

3. ฝึกมองปัญหาในหลาย ๆ แง่มุม เนื่องจากปัญหาหนึ่งอาจไม่เกิดจากสาเหตุเพียงอย่างเดียว การมองให้เห็นมุมมองอื่น ๆ จะช่วยให้เห็นแนวทางในการแก้ปัญหาได้มากขึ้น

4. จัดแจงความรู้ที่มีอย่างเป็นระบบ เช่นการทำ mind mapping การเขียน Flow Chart หรือด้วยวิธีการต่าง ๆ ที่ทำให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจในครั้งต่อ ๆ ไปหากกลับมาทบทวน การทำเช่นนี้จะช่วยให้เราเห็นความเชื่อมโยงที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น

จากทั้งหมดที่กล่าวจึงเห็นได้ชัดเลยว่า การคิดเชิงตรรกะเป็นพื้นฐานอันจะนำไปสู่ทักษะอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นความคิดสร้างสรรค์ การสื่อสารหรือติดต่อประสานงาน และที่สำคัญคือเป็นทักษะจำเป็นในการเขียนโปรแกรม ซึ่งในภายหลังนี้เรามักจะเห็นหลายโรงเรียนทั้งโรงเรียนเอกชนหรือรัฐบาลเองก็บรรจุหลักสูตรที่ให้นักเรียนได้ฝึกเขียนโปรแกรมเบื้องต้นแล้ว อาจเพราะทักษะการเขียนโปรแกรมถูกมองเห็นว่าเป็นทักษะจำเป็นในอนาคต ซึ่งหมายความว่าทักษะการคิดเชิงตรรกะกลายเป็นพื้นฐานที่จำเป็นสำคัญที่ควรได้รับการฝึกฝนและพัฒนาอย่างจริงจังไปโดยพร้อมเพรียงกัน

โดย ปกรณ์ นาวาจะ

Source:
https://www.indeed.com/career-advice/career-development/strengthen-logical-thinking-skills
https://www.edubloxtutor.com/logical- thinking/#:~:text=Logical%20thinking%20is%20the%20process,reasoning%20that%20%E2%80%9Cmake%20sense.%E2%80%9D
https://www.indeed.com/career-advice/career-development/strengthen-logical-thinking-skills
https://www.gotoknow.org/posts/115863#:~:text=Logical%20Thinking%20%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B0%E0%B8%9E%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%90%E0%B8%B2%E0%B8%99,%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3%E0%B8%81%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3


Write a comment