Digital Literacy หนึ่งในทักษะสำคัญแห่งศตวรรษที่ 21

            หากจะถามเด็ก ๆ หรือแม้กระทั่งตัวเราตอนเด็กเองถึงศตวรรษที่ 21 เราก็จะนึกถึงการ์ตูนที่มีประวัติยาวนาน ดำเนินเรื่องโดยเด็กกลุ่มหนึ่งและหุ่นยนต์ตัวกลม ๆ สีฟ้าที่มีกระเป๋าหน้าท้องเป็นอันดับแรกจริงไหมครับ เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่เดียวที่พอเราเดินทางเข้ามาถึงศตวรรษที่ 21 เข้าจริง ๆ เราก็เริ่มมองเห็นการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดดและไม่หยุดยั้ง อาจจะยังไม่มีเทคโนโลยีที่มหัศจรรย์เหมือนในการ์ตูน แต่อีกไม่นานมันอาจจะเกิดสิ่งนั้นขึ้นจริงก็ได้ เพราะเทคโนโลยีเริ่มพัฒนาจากรูปแบบที่ต้องใช้งานผ่านคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ smart device ต่าง ๆ จนกระทั่งเป็นรูปแบบที่เป็น Robotic มากขึ้น และมากไปกว่านั้นเทคโนโลยีหุ่นยนต์บางชิ้นก็ถูกพัฒนาให้มีความเป็นมนุษย์หรือ Humanoid เท่ากับว่าเทคโนโลยีทั้งหลายแทบจะกลืนเข้ามาจนเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้แล้วในยุคสมัยนี้

            แต่หากพูดถึงศตวรรษที่ 21 กับนักการศึกษาหรือนักวิชาการ ประเด็นจะถูกชี้นำไปสู่ทักษะสำคัญในศตวรรษที่ 21 หรือ 21st Century Skills เสียมากกว่าและแน่นอนว่าทักษะด้านความเข้าใจและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) ก็เป็นหนึ่งในทักษะที่ได้รับการให้ความสำคัญเป็นทักษะสำคัญในศตวรรษที่ 21 เช่นกัน

Digital Litercy คืออะไร?

            “ทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล หรือ Digital Literacy” หากให้ความหมายตามสำนักงาน ก.พ. หมายถึงทักษะในการนำเครื่องมือ อุปกรณ์ และเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีอยู่ในปัจจุบันมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการสื่อสาร การปฏิบัติงาน และการทำงานร่วมกัน หรือใช้พัฒนากระบวนการทำงาน หรือระบบงานในองค์กรให้มีความทันสมัยและมีประสิทธิภาพ

            หากให้ความหมายตาม The American Library Association (ALA) จะได้ว่า ทักษะหรือความสามารถในการใช้เทคโนโลยีด้านข้อมูลและการสื่อสาร (information and communication technologies, ICT) เพื่อการค้นหา การประเมิน การสร้างสรรค์ และการสื่อสาร โดยอาศัยทั้งทักษะด้านปัญญา (Cognitive Skills) และทักษะด้านเทคนิควิธีการ (Technical Skills)

            สามารถสรุปได้ง่าย ๆ คือการนำเทคโนโลยีดิจิทัลใน device ต่าง ๆ มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดนั่นเอง และ digital literacy ยังสามารถแบ่งเป็น 4 ส่วนสำคัญโดยอ้างอิงจากศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงการอุเมศึกษา วิทยาศาสตร์ และนวัตกรรม ได้แก่ ใช้ (Use) เข้าใจ (understand) สร้าง (Create) และเข้าถึง (Access) ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

            1. ใช้ (Use) คือคล่องแคล่วทางเทคนิคที่จำเป็นต่อการใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต  ครอบคลุมตั้งแต่โปรแกรมประมวลผลคำ (Word Processor) เว็บบราวเซอร์ (Web browser) อีเมล (Email) เครื่องมือสื่อสารอื่น ๆ เสิร์ชเอนจิน (Search Engine) ไปจนถึง Cloud computing

            2. เข้าใจ (Understanding) คือชุดของทักษะเกี่ยวกับการเข้าใจบริบทและการประเมินสื่อดิจิทัล เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถตัดสินใจเกี่ยวกับการกระทำของตนเองบนโลกออนไลน์ ประเมินความสเสี่ยง ข้อดี-ข้อเสีย หรือผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการกระทำดังกล่าว ซึ่งทักษะนี้เป็นทักษะที่สำคัญและเริ่มมีการนำไปสอนในระดับโรงเรียน เพราะว่าทักษะดังกล่าวส่งผลถึงพฤติกรรมบนโลกออนไลน์รวมถึงโลกออฟไลน์ของเราด้วย

            3. สร้าง (Create) คือความสามารถในการผลิตเนื้อหาของสื่อไปจนถึงการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพผ่าน device ที่หลากหลาย นอกจากนี้การสร้างยังรวมไปถึงการดัดแปลงข้อมูลที่มีการสื่อสารไปถึงผู้อื่นอีกด้วย สื่อในที่นี้ครอบคลุม ภาพ วิดีโอ และเสียง ตลอดจนสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) รูปแบบอื่น ๆ ด้วย

            4. เข้าถึง (Access) คือ การเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล และข้อมูลข่าวสาร ผ่านช่องทางต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการพัฒนาตนเองไปจนถึงการพัฒนาในเชิงโครงสร้างด้านเศรษฐกิจ

สำคัญยังไง?

            การที่เราเข้าใจและสามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างถูกต้องจะช่วยให้เราสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัยบนโลกที่เราสามารถเข้าถึงมนุษย์คนอื่นในฐานะของข้อมูล หมายถึงตัวตนทุกอย่างของเราที่เกิดขึ้นในโลกดิจิทัลนั้นเป็นข้อมูลทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นประวัติส่วนตัว ข้อความที่เราสื่อสารกับใครก็ตาม หรือแม้แต่กิจกรรมในชีวิตออฟไลน์ก็เปลี่ยนผ่านกลายเป็นออนไลน์มากขึ้นเช่นการซื้อขายและการประชุมงาน ทั้งหมดที่กล่าวมาล้วนถูกบันทึกไว้เป็นข้อมูลทั้งสิ้น หมายความว่าภัยร้ายรูปแบบต่าง ๆ ก็สามารถดำเนินการผ่านทางข้อมูลได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการเอาผลประโยชน์ การปลอมแปลง การดักเอาข้อมูล รวมถึงอาชญากรรมต่าง ๆ ที่นำมาซึ่งผลร้ายทั้งต่อความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของเรา อาจนำมาสู่เหตุการณ์ในชีวิตประจำวันในโลกออฟไลน์ของเราได้ด้วย ความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัลจึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญอย่างมากชิ้นหนึ่งที่จะช่วยให้เหตุการณ์เหล่านี้ไม่เกิดขึ้นกับเรา และเป็นการลดความเสี่ยงที่เหตุการณ์เหล่านี้อาจจะเกิดขึ้นได้

            ฉะนั้นไม่แปลกใจเลยที่ Digital literacy ถูกจัดเป็นหนึ่งในทักษะสำคัญในศตวรรษที่ 21 ศตวรรษที่เทคโนโลยีกลมกลืนกับชีวิตประจำวันของคนจนเป็นสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ การรู้ Digital Literacy ก็เปรียบเหมือนกับการรู้จักปรับตัวตามวัฒนธรรมที่เราอยู่ในชีวิตจริง การใส่เสื้อผ้าให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ การรู้สิทธิเสรีภาพของตนเองที่จะไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น หรืออาจจะเป็นการฝึกศิลปะป้องกันตัวเอาไว้ก่อนที่จะมีภัยร้ายเข้าหาตัวเอง ในขณะเดียวกัน หากเรารู้และเข้าใจมันเป็นอย่างดีแล้วเท่ากับว่าเรามองเห็นวิธีการที่จะสามารถต่อยอดเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองหรือต่อโลกใบนี้ได้อีกด้วย

โดย ปกรณ์ นาวาจะ

Source:
https://en.wikipedia.org/wiki/Digital_literacy
https://www.ocsc.go.th/DLProject/mean-dlp
https://www.renaissance.com/2019/02/08/blog-digital-literacy-why-does-it-matter/#:~:text=The%20American%20Library%20Association%20(ALA,both%20cognitive%20and%20technical%20skills.%E2%80%9D
https://www.ops.go.th/main/index.php/knowledge-base/article-pr/854-zxfdgsdgs

Write a comment